top of page

แจก Check Lists ฟรี!! : 6 ข้อนี้หรือเปล่า ที่ทำลูกเราตื่นกลางดึก


สวัสดีค่ะคุณแม่ทุกท่าน เป็นยังไงกันบ้างคะ เมื่อคืนนี้ได้นอนกี่ชั่วโมง ถ้าเช้านี้เรากลายสภาพเป็นแม่แพนด้าไปแล้วอย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องเครียดไปนะคะ ทุกอย่างมีทางแก้เสมอค่ะ แม่ลูกอ่อนนอนน้อยทุกท่านคงเคยประสบปัญหาลูกรักตื่นกลางดึกกันคืนละหลายๆรอบมาแล้ว และจากประสบการณ์ตรงของนุชเอง รู้เลยว่าไม่มีอะไรจะชวนแม่เพลียได้เท่ากับการนอนหลับๆตื่นๆ หรือที่เรียกว่า broken sleep อีกแล้วค่ะ กำลังจะเคลิ้มๆ เอ้าลูกร้อง กลับมานอนหลับกำลังฟินๆ ว้าย ลูกร้องอีกแล้ว ฮือ แค่เขียนถึงตรงนี้ก็เหนื่อยแทนคุณแม่ขึ้นมาแล้ว


การตื่นกลางดึกของลูกวัยทารก อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรนะคะ มีหลายปัจจัยมากๆเลยค่ะที่ทำให้ทารกตื่นนอนกลางดึกแล้วร้องไห้จ้าหาคุณแม่ ถ้าเราเข้าใจปัจจัยต่างๆและเรียนรู้เทคนิกการฝึกนอนของลูก เด็กทุกคนนอนยาวได้แน่นอนเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมค่ะ (ราว 4 เดือนขึ้นไป) แต่ถ้าคุณแม่ยังไม่สะดวกฝึกนอนตอนนี้ แต่ก็ไม่ไหวจะตื่นถี่ๆแบบเมื่อคืนแล้ว ในบทความนี้นุชจะแจก Check List 6 ข้อ ที่ LBD คิดค้นขึ้นมา เปรียบดังยาสามัญประจำบ้าน ให้คุณพ่อคุณแม่เก็บเอาไว้ และหยิบขึ้นมาเช็ค ในคืนที่ลูกน้อยตื่นบ่อย ตื่นถี่ซะเหลือเกิน เผื่อว่าจะเจอเจ้าตัวการสำคัญที่ทำให้ลูกฉันตื่นกลางดึก เชื่อไหมคะ บางปัจจัยเล็กจิ๋วที่เรามองข้ามไปนี่แหละที่ทำให้เบบี๋ตื่นขึ้นมาโวยวายกลางดึก แค่ปรับเปลี่ยนนิดเดียว ลูกของคุณแม่ก็อาจจะกลายเป็นเด็กนอนยาว 12 ชั่วโมงเลยก็ได้นะ

เช็คลิสต์ที่ว่านี้คือออออ (รัวกลอง) T-L-S-S-S-S ค่ะ อ่านชื่อแล้วอาจจะงงว่า เอ ทำไมชื่อเหมือนโรงเรียนนานาชาติอะไรหรือเปล่า จริงๆแล้ว TLSSSS เนี่ยคือตัวย่อค่ะ ย่อมากจากอะไร ก็มาจาก 6 สิ่งที่เป็นปัจจัยรบกวนการนอนของลูกคุณแม่นั่นเอง อันได้แก่




T for Temperature


Temperature หรืออุณหภูมินั่นเองค่ะ เรื่องง่ายๆที่คุณแม่ตกม้าตายมาแล้วหลายบ้าน บางทีเราอาจจะมองว่าอุณหภูมิที่เปิดแอร์อยู่ตอนนี้พอเหมาะพอดีแล้ว แต่มันอาจจะร้อนเกินไป หรือหนาวเกินไปสำหรับลูกเราก็ได้นะคะ เขามีการศึกษากันมาว่าอุณหภูมิที่หลับสบายสำหรับทารกอยู่ที่ 20-22 องศาเซลเซียส แต่นั่นก็เป็น study ของทางเมืองนอกซึ่งเด็กๆคุ้นชินกับอากาศเย็นอยู่แล้ว สำหรับบ้านเราที่เป็นเมืองร้อน ก็อาจจะต้องเลือกอุณหภูมิให้เหมาะสม ไม่ให้หนาวเกินไปและไม่ให้ร้อนเกินไป ซึ่งกรณีร้อนเกินไปเป็นกรณีที่เจอได้บ่อยในเด็กที่ตื่นกลางคืนบ่อยๆค่ะ เพราะด้วยความที่บ้านเราเป็นเมืองร้อน แล้วเราก็อาจจะกลัวว่าเดี๋ยวถ้าลูกเรานอนห้องแอร์แล้วจะหนาว และเดี๋ยวจะไม่สบาย สิ่งที่หลายบ้านทำก็คือ ใส่ชุดนอนหนา ๆ เข้าไว้ ห่อผ้าห่อตัวแน่น ๆ เข้าไว้ ห่มผ้าไปอีกชั้นหนึ่ง บางคนนอนกับแม่ อยู่แนบอกแม่เข้าไปอีก ก็ยิ่งอุ่นจนร้อนไปกันใหญ่เลยค่ะ


อ้าว แล้วอย่างนี้จะเปิดแอร์กี่องศาให้ลูกดี นุชขอเอาทางแก้ปัญหาที่ทาง American Academy of Pediatrics (AAP) เขาวางเอาไว้มาแนะนำคุณแม่แล้วกันนะคะ ทาง AAP เนี่ยเขาแนะนำว่า ไม่ต้องไปดูหรอก อุณหภูมิอะไรเท่าไหร่ ให้เน้นการแต่งตัวลูกเราให้อบอุ่นเหมาะสมกับอากาศก็พอ หลักการมีอยู่ง่ายๆค่ะ นั่นก็คือ คุณแม่สวมใส่เสื้อผ้าแบบไหนแล้วสบายตัว ก็ใส่แบบนั้นให้ลูกแล้วบวกเพิ่มไปอีกชั้นหนึ่ง นึกภาพออกไหมคะ เช่นคุณแม่ใส่ชุดนอนแขนยาวแล้วสบาย ไม่หนาว ไม่ร้อนเกินไป ก็ให้ลูกใส่เสื้อนอนแขนยาว แล้วอาจจะมี sleep sacks หรือถุงนอนเด็กแบบรูดซิบเพิ่มอีกชั้น หรืออาจจะเป็นผ้าห่มน้ำหนักเบาๆอีกผืน (ในกรณีเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ ไม่แนะนำผ้าห่มนะคะ) เท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ


L for Lighting


Lighting แสง หรือการจัดไฟ มีผลอย่างมาก (ก ไก่หลายตัว) ต่อการนอนของเด็กค่ะ เพราะว่าความมืดส่งผลต่อการสร้างเมลาโทนินในร่างกายของเรา หลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี เจ้าเมลาโมนินนี่คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สมองของเราสร้างขึ้นมา มีหน้าที่ในการทำให้เราง่วงนอนค่ะ ฟังอย่างนี้แล้วแม่ ๆ คงอยากให้ลูกมีเมลาโทนินเยอะๆ ใช่ไหมคะ เมลาโทนินในเด็กน้อยก็เช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ค่ะ คือจะทำงานได้เต็มที่เมื่อเจอความมืด ยิ่งมืด เมลาโทนินยิ่งแข็งแรง ดังนั้นคุณแม่ลองเช็คห้องนอนของลูกดูนะคะว่ามืดหรือยัง ถามว่าต้องมืดประมาณไหน เอาชนิดที่ว่าเมื่อคุณแม่เข้าไปในห้อง ลองโบกมือข้างหน้าตัวเอง แล้วมองไม่เห็น หรือเห็นน้อยมาก ๆ เลยค่ะ ความมืดสนิทเวลานอนแบบนั้นจะช่วยให้นอนหลับลึกขึ้น เพราะเมลาโทนินทำงานได้เต็มที่ค่ะ อันนี้ไม่ใช่แค่กับเด็กเล็กนะคะ ผู้ใหญ่เองก็ควรนอนในห้องที่มืดสนิทเช่นกัน


คุณแม่บางคนอาจจะบอกว่า โห มืดขนาดนั้นเลยเหรอ ไม่ไหวหรอก เดี๋ยวลูกกลัวแย่เลย ไม่ต้องห่วงเรื่องนี้นะคะ เพราะเด็กน้อยอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ยังไม่รู้จักการกลัวความมืดค่ะ ดังนั้นปิดไฟมืดตื๋อได้เลย ถ้าน้องร้องไห้เวลาปิดไฟมืด อาจจะเป็นเพราะตกใจที่บรรยากาศรอบตัวเปลี่ยนกระทันหัน แนะนำให้ค่อยๆเริ่มจากหรี่ไฟทีละดวง หรือให้ไฟสลัวก่อนในช่วง Bedtime Routine ก็ได้ค่ะ แล้วหลังจากวางน้องในเปล คุณแม่ค่อยปิดไฟ ให้น้องนอนหลับในความมืดนะคะ แต่ถ้าคุณแม่ไม่สะดวกที่จะปิดไฟมืดสนิท เพราะอาจจะต้องตื่นขึ้นมาปั๊มนม หรือเอาลูกเข้าเต้ารอบเที่ยงคืน ตีสาม นุชแนะนำให้คุณแม่ใช้ Night Light ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการนอนโดยเฉพาะ โดยไฟประเภทนี้จะเป็นสีส้ม หรือสีแดงค่ะ ไม่เอาไฟสีขาว หรือสีฟ้านะคะ อันนั้นรบกวนการนอนแบบสุด ๆ ไปเลยล่ะค่ะ


S for Sound

Sound เสียงต่างๆก็มีผลต่อการนอนของลูกนะคะ คุณแม่หลายบ้านเคยเล่าให้นุชฟังว่า เวลานอน ห้องนอนลูกจะเงียบมาก ขนาดหายใจแม่ยังไม่กล้าหายใจดังเลย แต่ลูกก็ยังตื่น เชื่อไหมคะถ้านุชจะบอกว่า ยิ่งเงียบ ลูกยิ่งตื่นค่ะ สังเกตไหมคะ ช่วงลูกหลับแรก ๆ ซักครึ่งชั่วโมงหรือ 1 ชั่วโมงแรก ลูกหลับดี๊ดี พ่อแม่คุยกันยังไงก็ไม่ตื่น แต่บางทีบทจะหูไวขึ้นมา หมาซอยนู้นเห่า ก็ตื่นตาโตขึ้นมาซะอย่างนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวงจรการนอนของลูก หรือที่เรียกว่า Sleep Cycle นั่นเองค่ะ ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ เราไม่ได้หลับสนิทรวดเดียวถึงเช้านะคะ เราจะมีวงจรการนอนหลับที่คล้ายๆกันทุกคน มีช่วงหลับลึก หลับตื้น ช่วงฝัน ช่วงตื่น หมุนวนกันไปทั้งคืนเลยค่ะ ซึ่งสำหรับเด็กในช่วงหลับลึกเนี่ย พูดคุยกันยังไงก็ไม่ตื่นหรอกค่ะ แต่ถ้าเข้าสู่ช่วงหลับตื้นเมื่อไหร่ เสียงแอร์ดังยังตื่นได้เลยนะคะ และยิ่งถ้าห้องนอนเงียบสนิทอย่างที่บอกไปข้างต้น ลูกก็ยิ่งได้ยินเสียงรบกวนเหล่านั้นง่ายขึ้นไปอีกค่ะ


อ้าว แล้วอย่างนี้เราจะป้องกันยังไงดีล่ะคะ เกิดหมาข้างบ้านมันเห่าตอนลูกเราหลับตื้นพอดี แบบนี้ก็แย่เลยสิ มันมีทางแก้อยู่ค่ะแม่ นุชขอแนะนำให้รู้จักเจ้าเครื่อง White Noise เลยค่ะ White Noise เนี่ยคือเสียงที่มีความถี่สม่ำเสมอ เช่นเสียงพัดลม เสียงฝน เสียงเครื่องเป่าผม เครื่องดูดฝุ่น อะไรทำนองนี้ค่ะ ว่ากันว่าทารกจะรู้สึกสบายอกสบายใจกับเสียงเหล่านี้เพราะมันเหมือนกับเสียงที่เขาคุ้นชินตอนอยู่ในท้องแม่ (ในท้องแม่ไม่เงียบนะคะ มีสารพัดเสียงเลยล่ะ) การเปิด White Noise ให้ลูกได้ยินตั้งแต่ก่อนลูกนอนหลับ ก็จะช่วยให้เมื่อเขาตื่นมากลางดึก แล้วยังได้ยินเสียง White Noise อยู่ เขาก็จะกลับไปหลับต่อได้ง่ายขึ้นค่ะ (เดี๋ยวเรื่องนี้เราจะคุยกันละเอียดอีกทีใน Blog ต่อ ๆ ไปนะคะ) และที่สำคัญ เสียง White Noise จะช่วยบล็อก กั้น ไม่ให้เสียงรบกวนจากภายนอก เช่นเสียงหมาเห่า เสียงทีวี เสียงรถยนต์ต่างๆ เข้ามารบกวนโสตประสาทของลูกยามนอนหลับได้ดีเลยล่ะค่ะ



S for Screen

Screen หน้าจอทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอทีวี โทรศัพท์ Tablet ต่างๆ ล้วนแล้วแต่รบกวนการนอนของลูกทั้งนั้นเลยค่ะ ซึ่งข้อนี้ส่งผลกระทบทั้งในเด็กเบบี๋ เด็กโต รวมถึงผู้ใหญ่ด้วยนะคะ การดูทีวีก่อนนอนจะทำให้สมองของเด็กถูกกระตุ้นมากเกินไปจนไม่สามารถเข้าสู่โหมดผ่อนคลายและหลับได้ง่าย ๆ แถมในหน้าจอต่างๆ ยังมีแสงสีฟ้าซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของเมลาโทนิน ฮอร์โมนเพื่อนรักของการนอน อีกด้วยนะคะ ยังไม่นับในเด็กโตที่ค่อนข้างรู้เรื่องแล้ว จะเก็บเรื่องราวในทีวีไปฝันร้าย จนนอนไม่ได้อีกต่างหาก หรือบางคน (ส่วนมากเลยแหละ) ก็สนุกกับการดูทีวีจนไม่ยอมนอนซักที เรียกว่าการดูหน้าจอก่อนนอนไม่มีผลดีใดๆต่อการนอนหลับเลยนะคะ

สำหรับเด็กทารก หรือเด็กเล็กต่ำว่า 2 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ก็คงไม่ได้ให้ดูหน้าจออยู่แล้ว แต่ถ้าเด็กโตที่รู้จักการดูหน้าจอแล้ว แนะนำว่าให้งดซัก 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อให้ร่างกายปรับสู่โหมดเตรียมพร้อมพักผ่อนค่ะ

.


S for Sugar

Sugar น้ำตาล ในขนมหรือของหวานทุกรูปแบบ มีการวิจัยออกมาว่าคนที่บริโภคน้ำตาลมากๆก่อนเข้านอน จะนอนหลับได้ยากกว่าปกติ และเมื่อหลับแล้ว ก็จะอยู่ในระยะหลับตื้นมากกว่าหลับลึก ซึ่งทำให้รู้สึกเหนื่อย เพลีย แม้จะนอนหลับแล้วก็ตาม สังเกตไหมคะว่าเวลาเด็กๆทานของหวานหรือของที่มีน้ำตาลมากๆ มักจะคึกคัก สนุกสนาน พลังงานล้นเหลือกันจริงจัง สิ่งเหล่านั้นตรงข้ามกับความผ่อนคลายที่เราอยากให้ลูกๆรู้สึกก่อนนอนเลยค่ะ อีกอย่าง ขนมหวานหลายชนิดมาคู่กันกับคาเฟอีนแฝง เช่นช็อคโกแลต โกโก้ต่างๆ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เด็กๆตาค้างอีกด้วย ถ้าหากเด็กๆเกิดหิวก่อนเข้านอนขึ้นมา แนะนำของว่างเบาๆสบายท้อง อย่างเช่นนมอุ่นๆ หรือกล้วย ให้ทานแทนของหวานนะคะ


S for Stress


Stress ความเครียดก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ลูกนอนไม่หลับนะคะ คุณแม่อาจจะคิดว่าทารกวัย 6 เดือน เครียดเป็นแล้วหรือ เป็นแล้วค่ะ แล้วเรื่องที่ทำให้ลูกน้อยเครียด ก็คืออารมณ์ของคุณแม่นั่นเองค่ะ เวลาเราเครียดๆเราก็มักจะนอนไม่หลับ ถูกไหมคะ เด็กน้อยก็เหมือนกัน ลูกซึมซับอารมณ์จากคุณแม่ได้โดยตรงเลยค่ะ ดังนั้นหากคุณแม่เครียด โมโห หรือกดดันจากสถานการณ์ใดๆก็ตาม ลูกก็จะรู้สึกถึงพลังงานด้านลบเหล่านั้นตามไปด้วยค่ะ ลองสังเกตดูนะคะถ้าคุณแม่พาน้องเข้านอนด้วยอารมณ์หงุดหงิด หรือพลังงานความเครียดแบบเต็มพิกัด คืนนั้นน้องจะนอนยากเป็นพิเศษ เพราะน้องซึมซับอารมณ์ไปจากแม่นั่นเองค่ะ ดังนั้นคืนนี้พาน้องเข้านอน และทำ Bedtime Routine ด้วยอารมณ์ที่ปลอดโปร่ง ผ่อนคลายกันนะคะ ลูกน้อยก็จะได้ผ่อนคลาย และหลับได้ง่ายมากขึ้นค่ะ


เช็คลิสต์ทั้ง 6 ข้อ เปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้าน ที่คุณแม่สามารถหยิบมาเช็คได้ทุกวันว่าวันนี้มีปัจจัยอะไรรบกวนการนอนของลูกเราหรือเปล่านะ แต่ก็ยังมีปัจจัยอีกมากมายหลายหลากที่รบกวนการนอน ทำให้ลูกของเรากลายเป็นเด็กตื่นบ่อยได้ ถ้าสนใจอยากรับการปรึกษาแบบ Private Coaching เพื่อกำจัดทุกปัจจัยที่รบกวนการนอนของลูก คลิกที่นี่ เพื่อดูรายละเอียดได้เลยค่า





22 views0 comments

Yorumlar


bottom of page