top of page

Witching Hour แฝดน้องตัวร้ายของ Colic ที่ทำให้ลูกร้องไห้หนักมากตอนโพล้เพล้

ถ้าลูกคุณแม่อายุได้ราว ๆ 2 เดือน และมักจะร้องไห้งอแงหนักมากช่วงประมาณ 5 โมงเย็นไปถึง 5 ทุ่ม ปลอบยังไงก็ไม่สงบ ป้อนนมก็แล้ว จับเรอก็แล้ว เปลี่ยนแพมเพิร์สก็แล้ว และเป็นแบบนี้แทบทุกวันในเวลาเดิม ๆ และหายเองในเวลาเดิม ๆ คุณแม่อาจจะกำลังเผชิญกับ Witching Hour ค่ะ





Witching Hour คืออาการที่เด็กน้อยวัยประมาณ 2 เดือนขึ้นไป ร้องไห้งอแงหนัก ๆ แบบหาสาเหตุไม่เจอ ในช่วงเย็น ๆ โพล้เพล้ไปถึงดึก และอาการนี้ไม่มีสาเหตุชัด ๆ ทางการแพทย์ ไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อพัฒนาการร่างกายและจิตใจของลูก (แต่ส่งผลเสียต่อจิตใจคุณแม่อย่างมาก) และไม่มีทางแก้ให้หายแบบเด็ดขาด เรียกว่ามีแค่วิธีประคับประคองให้แม่ไม่เหนื่อยเกินไปเท่านั้นเอง


Witching Hour vs Colic แฝดพี่น้องตัวร้ายที่คุณแม่ไม่อยากเจอ

โคลิกเป็นคำที่เราได้ยินบ่อย ๆ และคุณแม่ก็มักจะนึกถึงเจ้าโคลิกนี้เมื่อลูกร้องไห้โยเยแบบหาสาเหตุไม่เจอ แต่ความต่างระหว่างโคลิก และ Witching Hour อยู่ที่ระยะเวลาของการร้องไห้ค่ะ เจ้าโคลิกนั้นน้องมักจะร้องไห้หนัก ๆ อยู่ราวสามชั่วโมง มักจะเป็นมากกว่าสามวันในหนึ่งสัปดาห์ และมักจะกินเวลานานราวสามสัปดาห์เลยทีเดียว แต่ Witching Hour นี้ไม่มีเวลามาจำกัดว่าจะร้องนานกี่ชั่วโมง กี่วัน กี่สัปดาห์ แต่มักจะเป็นซ้ำ ๆ อยู่ระยะเวลาหนึ่งให้คุณแม่เหนื่อยใจ และจะดีขึ้นได้ใน 2-3 สัปดาห์ หรือบางคนยาวไปถึง 12 สัปดาห์ก็มี!


วิธีผ่อนหนักเป็นเบาสำหรับคุณแม่ที่เผชิญ Witching Hour

อันดับแรกเลยทำใจให้สบายค่ะ สูดหายใจลึก ๆ นาทีนี้ลืมตารางการนอน การฝึกวินัยใด ๆ ไปก่อน เอาแค่ให้ตัวคุณแม่และน้องผ่านพ้นวันและคืนไปได้อย่างสบายใจที่สุด ท่องเอาไว้ว่านี่เป็นเรื่องปกติที่พบได้มากในทารกทั่วไป ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ และจะหายไปในที่สุด เมื่อสบายใจแล้ว มาดูวิธีผ่อนหนักเป็นเบากันค่ะ


  • พยายามอย่าให้ลูก overtired เช็คดู wake window ที่เหมาะกับวัย และพานอนให้เร็วกว่าที่เคยเพื่อป้องกันไม่ให้น้องเกิดอาการเหนื่อยสะสม ที่จะทำให้ Witching Hour แย่ลงไปอีกค่ะ


  • แกว่งไกว โยกเยก เคลื่อนไหวให้มากที่สุด : ทารกแรกเกิดจะสงบได้เร็วมากเมื่อมีการเคลื่อนไหว ในช่วง Witching Hour นี้นุชอยากให้คุณแม่ลืมการฝึกใด ๆ ไปก่อน อุ้มโยก เดินกล่อม แกว่งไกวได้เต็มที่ เพื่อให้น้องสงบที่สุดค่ะ


  • พาออกไปสูดอากาศ หรือเข้าที่สงบ ไม่มีผู้คนมากมาย : หลายครั้งที่สิ่งเร้าต่าง ๆ เช่นคน เสียง แสง ทำให้น้องตื่นตัวและหงุดหงิดได้ง่าย ๆ หากน้องงอแงหนัก ๆ พาน้องไปเดินสวนหลังบ้านเงียบ ๆ หรือพาเข้าห้องนอนที่ผ่อนคลาย เปิดไฟสลัว อากาศเย็น เปิด white Noise ไม่ต้องคาดหวังให้น้องหลับ แค่ให้น้องสงบลง และผ่อนคลายเท่านั้นค่ะ


  • คุณแม่ห้ามเครียด : แม้จะห้ามยาก แต่อยากขอร้องให้คุณแม่พยายามเครียดให้น้อยที่สุดค่ะ เพราะความเครียดนั้นส่งผ่านโดยตรงจากแม่สู่ลูก เด็กทารกรับรู้อารมณ์ของแม่ได้ไวมาก และถ้าแม่เครียด ลูกก็จะเครียดด้วย และทำให้งอแงหนักยิ่งขึ้นค่ะ


  • Skin to Skin : ถอดเสื้อน้องออก และอุ้มแนบอกกับคุณแม่ในเป้อุ้มแบบ Wrap หรือโอบกอดลูกแนบอกเงียบ ๆ อาจจะร้องเพลงเบา ๆ ให้น้องฟัง หรือนั่งบนเก้าอี้โยก ก็จะช่วยให้ผ่อนคลายทั้งแม่และลูกเลยค่ะ วิธีนี้คุณพ่อก็ช่วยได้นะคะ


  • Cluster Feeding : หลายครั้งที่ Witching Hour มีผลมาจากความหิว อาจจะเพราะน้องเริ่มโตขึ้น ต้องการนมมากขึ้น หรือในบางเคส ช่วงเย็นเป็นช่วงที่การผลิตน้ำนมของแม่ค่อนข้างน้อยกว่าช่วงเวลาอื่น เมื่อน้องทานไม่อิ่ม ก็งอแงค่ะ เราอาจจะแก้ได้โดยการให้นมแบบรัว ๆ (Cluster Feeding) ให้บ่อยทุกชั่วโมง หรือให้ยาว ๆ ไปจนกว่าลูกจะพอใจ หรือให้ขวด เพื่อแน่ใจเรื่องปริมาณก็ได้ค่ะ


  • ใช้เสียงช่วย : White Noise, เครื่องดูดฝุ่น, ไดร์เป่าผม เสียงความถี่ต่ำ ๆ ซ้ำ ๆ แบบนี้ช่วยให้น้องผ่อนคลายและสงบลงได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ


  • ไม่บังคับให้ลูกนอน : เมื่อเกิดภาวะ Witching Hour แบบนี้ คุณแม่ไม่ต้องนึกถึงการเข้านอนเร็ว ๆ เป็นเวลาเลยค่ะ สามารถพาลูกนอนเมื่อเค้าสงบได้เลย เพราะหากน้องกำลังร้องไห้มาก ๆ แล้วไปฝืนพาน้องเข้านอนตั้งแต่ทุ่มนึง ทำอย่างไรน้องก็ไม่ยอมนอน และคุณแม่จะเหนื่อยเองด้วยค่ะ วิธีแก้คือ อุ้มน้อง หรือใส่เป้อุ้ม หรือเข้าเต้า ให้นมไปยาว ๆ พลางดูซีรีส์เรื่องโปรดของคุณแม่ไปได้เลยเพลิน ๆ จนน้องสงบพร้อมเข้านอน ซึ่งส่วนมาก Witching Hour มักจะสงบลงราว ๆ 5 ทุ่ม (แล้วแต่เด็กแต่ละคน) ค่ะ



การเป็นพ่อ แม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ และนุชเข้าใจมาก ๆ ว่าการต้องฟังเสียงลูกน้อยกรีดร้องเป็นชั่วโมง ๆ โดยเฉพาะในตอนกลางคืนนั้นมันทรมานแค่ไหน แต่อยากให้คุณแม่ทำใจให้สบาย ๆ นะคะ พยายามผ่อนคลายตัวเองด้วยกิจกรรมที่ชอบ เช่นฟังเพลง ดูหนัง เราไม่สามารถแก้ไข Witching Hour หรือ Colic ได้ทันทีทันใด และไม่สามารถหาสาเหตุของการร้องไห้ของลูกได้หากลูกเผชิญกับภาวะนี้ ดังนั้นพยายามผ่อนหนักเป็นเบาด้วยวิธีข้างต้น แล้วมันจะผ่านไปค่ะคุณแม่ แต่ถ้าใครอยากปรึกษา พูดคุยกับนุช เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาการนอนของน้องร่วมกัน เข้าไปดูรายละเอียดแพคเกจ Private Consult ได้เลยนะคะ แล้วคุยกันค่ะ

69 views
bottom of page