top of page

Newborn Blog Series: Episode 1 เทคนิค5Ss สยบลูกร้องไห้ ให้สงบได้ในพริบตา

ในบทความนี้ คุณแม่จะได้รู้จักเทคนิค 5Ss จาก Dr. Harvey Karp กุมารแพทย์ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ที่สอนเทคนิคนี้ให้คุณแม่มือใหม่ใช้เพื่อปลอบโยนเบบี๋ที่กำลังร้องไห้งอแง ให้สงบลงได้อย่างชะงักเลยค่ะ




เทคนิค 5Ss คิดขึ้นโดยคุณหมอ Harvey Karp กุมารแพทย์คนดังในสหรัฐอเมริกา ที่คิดเจ้า 5Ss ขึ้นมาเพื่อปลอบประโลมเด็กทารกแรกเกิดถึง 3 เดือนที่กำลังร้องไห้งอแงให้สงบลงง่ายเหมือนดีดนิ้วเลยค่ะ เทคนิกดังกล่าวเล่าง่าย ๆ ก็คือการเลียนแบบสิ่งแวดล้อมในครรภ์มารดา โดยคุณหมอมีทฤษฎีที่เชื่อว่า วัยแรกเกิดถึง 3 เดือน คือไตรมาสที่ 4 ที่ทารกควรยังอยู่ในครรภ์มารดา เพื่อให้เขาพร้อมออกมาสู่โลกกว้างภายนอกเมื่ออายุครบ 3 เดือน ดังนั้นในช่วงวัยนี้ทารกจึงควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คล้ายคลึงกับในครรภ์คุณแม่ เมื่อให้ทารกรู้สึกสงบ ปลอดภัย และคุ้นเคย เพื่อเมื่อถึงเข้าสู่วัย 3 เดือน ทารกจะได้ปรับตัวเข้ากับโลกใบใหม่ได้อย่างสบายใจค่ะ


เมื่อทารกสงบ เขาก็จะนอนหลับได้ง่าย

เมื่อให้ทารกรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และปลอดภัย สิ่งที่ตามมาก็คือความง่วงค่ะ ทำให้เบบี๋หลับได้ง่าย และหลับได้ดี (เพราะรู้สึกปลอดภัย) เหมือนตอนอยู่ในท้องแม่นั่นเองค่ะ ซึ่งเทคนิคดังกล่าว ได้แก่


#1 - Swaddle

การห่อตัวเบบี๋ ผ้าห่อตัวนี้สำคัญมาก ๆ นะเออ คุณแม่หลายท่านเลิกห่อตัวลูกทันทีที่กลับจากโรงพยาบาล (นุชเองก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ) เพราะคิดว่าลูกคงอึดอัด ร้อน หายใจไม่ออก หรือห่อทีไรลูกก็ร้องไห้ทุกที เหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้แม่เลิกห่อตัวเบบี๋ไปโดยปริยาย แต่ทราบไหมคะว่าการห่อตัวให้เบบี๋อย่างถูกวิธี ด้วยความแน่นที่เหมาะสม ช่วยให้เบบี๋หลับได้ง่าย และนานขึ้นจริง ๆ เพราะความรู้สึกที่ถูกโอบรัดนั้นเหมือนกันกับตอนอยู่ในครรภ์คุณแม่เลยค่ะ ลองคิดดูว่าลูกของเราถูกโอบรัดจนตัวงอมาตลอด 39 สัปดาห์ (นึกภาพตอนอัลตราซาวนด์ที่ลูดนอนดูดนิ้วเท้าออกไหมคะ) แล้วอยู่ ๆ ก็ต้องมานอนแผ่หลาบนเปลว่าง ๆ ที่ช่างกว้างใหญ่ไพศาลสำหรับเขา มันเวิ้งว้าง ไม่มีจุดสิ้นสุด เบบี๋ก็เลยร้องไห้ เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยนั่นเองค่ะ และการห่อตัวช่วยทดแทนความรู้สึกปลอดภัยเหมือนในครรภ์มารดาได้ดีมาก ๆ เลยนะคะ แต่การห่อตัวที่ถูกต้องก็ต้องอาศัยการฝึกฝน และความเชี่ยวชาญอยู่เหมือนกัน

นุชแนบลิ้งค์วิธีการห่อตัวที่ถูกต้องจาก hipdysplasia.org ไว้ตรงนี้นะคะ https://www.youtube.com/watch?v=LLqfRQdUP7k ลองดูและฝึกมือกับตุ๊กตาให้ชินก่อนก็ได้ รับรองว่าถ้าห่อได้ถูกต้องแล้ว ลูกน้อยจะหลับได้ดีขึ้นแน่นอนค่ะ


#2 - Side and Stomach Position


ก็คือการอุ้มน้องในท่าตะแคงหรือท่าคว่ำ โดยให้ช่วงท้องของน้องแนบไปกับแขนของเรา หรืออุ้มพาดบ่า เพื่อให้ช่วงท้องของน้องแนบไปกับอกของเรา ทำไมเบบี๋ถึงชอบท่านี้ ก็เพราะว่าเบบี๋แรกเกิดจะมี Moro Reflex ที่ทำให้สะดุ้ง ผวา เวลาได้ยินเสียงดัง หรืออยู่ดี ๆ ก็สะดุ้งแบบไม่มีอะไรกั้น (แม่ก็งงไปหมดทีนี้) นึกจะสะดุ้ง ก็สะดุ้ง สะดุ้งแล้วตื่นเลยก็มี เล่าแบบง่าย ๆ ก็คือถ้าเปิดหน้าว่างผ่านตลอดไว้ เด็กจะรู้สึกโหวงเหวง ไม่มั่นคงค่ะ แต่ถ้ามีอะไรแนบอกไว้ให้อุ่นใจ ก็จะสงบและผ่อนคลายกว่า แต่!!!! เน้นย้ำตัวโตเท่าบ้านเลยนะคะ ว่าไม่ควรปล่อยให้เบบี๋นอนคว่ำหรือตะแคงในเปลคนเดียวเป็นอันขาดค่ะ เพราะอาจจะเกิด SIDS หรือ Sudden Infants Death Syndrome ได้ ท่านอนที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเบบี๋แรกเกิดยาวไปถึงก่อนขวบปี คือนอนหลับในท่านอนหงายเท่านั้นค่ะ


"การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรค SIDS" – สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

#3 - Shuhing


ก็คือการส่งเสียงชู่ว ๆ ดัง ๆ ใกล้ ๆ หูของเบบี๋เวลาที่ลูกร้องไห้ค่ะ เสียงชู่ว ๆ เนี่ยจะช่วยให้ลูกสงบลงได้ และได้อย่างเร็วด้วย ถ้าคุณแม่ส่งเสียงดังพอ เคล็ดลับก็คือเสียงชู่วของคุณแม่ต้องดังกว่าเสียงร้องไห้ของลูกค่ะ แล้วค่อยลดเสียงลงมาเมื่อลูกลดเสียงลง พูดง่าย ๆ ก็คือยิ่งลูกร้องดังเท่าไหร่ แม่ก็ควรส่งเสียงชู่ว ให้ดังกว่า และลดเสียงลงเมื่อลูกสงบค่ะ เสียงสำคัญมากนะคะ เพราะตอนอยู่ในครรภ์คุณแม่ เบบี๋ไม่ได้อยู่เงียบ ๆ หรอกนะ มีเสียงวู่วว ๆ ดังตลอด 24 ชั่วโมงเลย ความเคยชินดังกล่าว ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยกับเสียงที่มีความใกล้เคียงเสียงในครรภ์ เช่นเสียง ชู่ว ๆ เสียง White Noise (สำคัญมากกับการนอนของลูก) ได้แก่เสียงที่มีคลื่นความถี่ต่ำ ดังซ้ำ ๆ สม่ำเสมออย่างเสียงพัดลม เสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงไดร์เป่าผม หรือเสียงฝนกระทบหลังคาประมาณนี้ สรุปง่าย ๆ ก็คือ ถ้าลูกงอแง กรีดร้อง คุณแม่ส่งเสียงชู่ว ๆ นำไปก่อนเลยค่ะ และเมื่อได้เวลาส่งลูกนอน เปิด White Noise กล่อมและเปิดคลอตลอดระยะเวลาการหลับของลูก จะช่วยให้เบบี๋หลับได้นานและหลับได้สนิทมากขึ้นค่ะ (เดี๋ยว White Noise นุชจะชวนคุยละเอียด ๆ ในอีกบทความหนึ่งนะคะ เรื่องมันยาวค่ะ)


#4 - Swing


เมื่ออยู่ในครรภ์คุณแม่ เบบี๋ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ นะคะ ทุกย่างก้าวที่แม่เดิน ขึ้นบันได ขยับตัว บิดขี้เกียจ เบบี๋เด้งดึ๋ง ๆ อยู่ในนั้นค่ะ เพราะเขาอยู่ในถุงน้ำขนาดใหญ่ ที่เด้งไปมาตลอดเวลา ดังนั้นเบบี๋จึงไม่ชอบเลยกับภาวการณ์อยู่นิ่ง ๆ เมื่อต้องอยู่ข้างนอกครรภ์คุณแม่ นึกสภาพเหมือนเราอยู่ในเรือโคลงเคลงมาตลอด 9 เดือนเต็ม อยู่ ๆ ขึ้นฝั่งมายืนนิ่ง ๆ มันทั้งชวนอาเจียนและน่าเวียนหัวมาก ๆ เลยค่ะ เบบี๋จึงไม่ชอบเลย วิธีการนี้คือการเลียนแบบการเคลื่อนไหวในครรภ์คุณแม่ โดยการอุ้มเบบี๋ที่ห่อตัวอย่างถูกวิธี วางบนตักของคุณแม่ ซัพพอร์ตคอและศรีษะของลูกเอาไว้เบา ๆ แต่มั่นคง และเขย่าเบา ๆ ด้วยการเคลื่อนไหวเล็ก ๆ แต่เร็ว (jiggle) ถ้านึกไม่ออก ให้นึกสภาพเยลลี่ในจานเด้งไปมาเล็กน้อย แบบนั้นล่ะค่ะ การเด้งไปมาเล็ก ๆ ทำให้เบบี๋ผ่อนคลาย และสงบลงได้อย่างรวดเร็ว แนะนำให้คุณแม่ดูคลิปวิธีการ jiggle จาก Happiest Baby in the Block อย่างละเอียดเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนก่อนนะคะ https://www.youtube.com/watch?v=sB2Fw3MFlhk

ข้อควรระวัง: เคลื่อนไหวเล็ก ๆ แต่เร็วแค่ 1 นิ้วซ้ายขวา จับช่วงคอและศรีษะลูกไว้เบา ๆ แต่มั่นคง ไม่เขย่าแรงด้วยอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดเด็ดขาดนะคะ


#5 - Sucking

การดูดของทารก เป็นสิ่งที่ปลอบประโลมให้เบบี๋สงบได้ไวที่สุด และชวนให้เบบี๋ผ่อนคลายมากที่สุด การดูดช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความดันโลหิตและลดความเครียดของเบบี๋ลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ การดูดนม ไม่ว่าจะเป็นจากเต้าหรือจากขวด จึงทำให้ลูกน้อยหยุดร้องได้แทบจะทุกครั้ง แต่ถ้าเบบี๋งอแงแม้เพิ่งทานนมอิ่มไปล่ะ จุกหลอกเป็นตัวเลือกที่ไม่แย่เลยค่ะในการช่วยให้เบบี๋ผ่อนคลายและหลับได้ง่าย แต่ถ้าคุณแม่กลัวว่าลูกน้อยจะติดจุกหลอกจนต้องหาวิธีเลิกให้วุ่นวาย แนะนำให้เลิกใช้ตั้งแต่ลูกอายุได้ 4-5 เดือนค่ะ เพราะทารกวัย 6 เดือนไปแล้วจะเริ่มผูกพันกับสิ่งของและทำให้เลิกอะไรได้ยากขึ้น อ้อ หากจะใช้จุกหลอก แนะนำให้เริ่มใช้หลังจากที่ลูกเข้าเต้าได้เก่งแล้วนะคะ เพื่อไม่ให้จุกหลอกมารบกวนการให้นมจากเต้าค่ะ

เป็นยังไงคะคุณแม่ อ่านจนเหนื่อยแล้วหรือยัง พักก่อนเนอะ แล้วเดี๋ยวเรามาต่อ Ep 2 ของซีรีส์ฝึกเบบี๋แรกเกิดให้นอนดีกันค่ะ ใครลองใช้เทคนิค 5Ss แล้วได้ผลยังไง เล่าให้ฟังบ้างนะคะ แล้วพบกันค่ะ



7 views0 comments
bottom of page