top of page

Newborn Blog Series: Episode 2 Safe Sleep ฝึกลูกนอนอย่างปลอดภัย ห่างไกล SIDS

Safe Sleep คืออะไร แล้วที่นอนอยู่มันไม่ Safe ยังไง…

Safe Sleep ก็คือสภาพแวดล้อมการนอนหลับที่ปลอดภัยของเด็กทารกค่ะ ซึ่งในซีรีส์บทความนี้ เราจะโฟกัสที่เด็กทารกแรกเกิดจนถึง 3 เดือน เด็กกลุ่มนี้เปราะบางมาก และเป็นช่วงที่อาจเกิด SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) ได้มากที่สุด จากการศึกษาวิจัยพบว่า 90% ของทารกที่เสียชีวิตจาก SIDS อยู่ที่ช่วงวัยก่อน 6 เดือนค่ะ



SIDS (Sudden Infant Death Syndrome)


ก่อนอื่น เรามารู้จักเจ้า SIDS คร่าว ๆ กันก่อนค่ะ SIDS เป็นต้นเหตุการเสียชีวิตแบบปริศนาของเด็กทารกวัยก่อนขวบปีแรก (ส่วนมากจะอยู่ที่วัย 1-4 เดือน และอัตราความเสี่ยงจะลดลงเมื่อทารกอายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป) ไม่มีที่มาที่ไป และอาจจะเกิดได้กับทารกสุขภาพดีโดยไม่มีสัญญาณบอกเหตุมาก่อน ซึ่งทารกที่เสียชีวิตจาก SIDS มักจะเกิดจากสภาพแวดล้อมการนอนที่ไม่ปลอดภัย โดยสาเหตุที่อาจจะเกี่ยวข้องหรือทำให้เกิด SIDS ได้ มีดังนี้ค่ะ

การขาดอากาศหายใจ: เกิดได้จากหมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตา ผ้าห่อตัว หรือแม้กระทั่งบัมเปอร์ข้างเปลที่อาจจะไปปิดหน้า และปิดกั้นทางเดินหายใจของทารกเวลานอนค่ะ

การติดระหว่างช่องเล็ก ๆ ที่เบบี๋ไม่สามารถหลุดออกมาได้ด้วยตัวเอง : เช่นร่องเปล ร่องระหว่างฟูกที่นอนกับกำแพง เมื่อเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่มีใครเห็น เช่นตอนกลางคืน ก็เป็นสาเหตุให้ทารกเสียชีวิตได้ค่ะ

ถูกรัดหรือพันคอด้วยวัตถุต่าง ๆ : เช่นสายคล้องจุกหลอก สายดึงผ้าม่าน หรือวัตถุมีน้ำหนักใด ๆ ที่กดทับบริเวณลำคอทำให้ทารกหายใจไม่ออกค่ะ


แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า สภาพแวดล้อมที่ลูกเรานอนอยู่นั้นปลอดภัยดีแล้ว?

มาดูเช็คลิสต์ Safe Sleep ที่เหมาะสมกับลูกของเรากันดีกว่าค่ะ


#1 หลับในท่านอนหงายเท่านั้น

แม้ว่านอนคว่ำหรือตะแคงจะลดการสะดุ้งหรือผวา แต่การนอนหลับที่ปลอดภัยที่สุดคือนอนหงายเท่านั้นค่ะ และควรนอนหลับในท่านอนหงายไปจนอายุ 1 ขวบเลย (แต่ถ้าหลัง 6 เดือน วางนอนหงายแล้วน้องพลิกคว่ำเอง ก็ไม่จำเป็นต้องจับน้องกลับมานอนหงายค่ะ) เพราะทารกเล็ก ๆ ไม่สามารถชันคอขึ้นมาเองได้ หากน้องหลับแล้วใบหน้าจมไปในฟูก หรือผ้าปิดทับหน้า ก็จะขาดอากาศหายใจได้ง่าย ๆ เลยค่ะ ปล. เรื่องหัวทุยสวยเอาไว้ทีหลังนะคะ เอาความปลอดภัยลูกไว้ก่อนดีกว่าเนอะ


#2 Minimal is the best

ตุ๊กตาหมีเอย ผ้าห่มเอย หมอนหนุน หมอนข้างเอย เอาออกไปก่อนเลยค่ะแม่ แม้ว่าตุ๊กตากระต่ายหูยาวที่เราซื้อเตรียมมาตั้งแต่ก่อนคลอดจะน่ารักแค่ไหน ก็ไม่ควรวางอยู่ในเปลระหว่างที่น้องนอนหลับนะคะ เปลที่ปลอดภัยที่สุดคือเปลที่เรียบง่าย ไม่มีสิ่งของใด ๆ ทั้งผ้าห่ม หมอน หมอนข้างค่ะ ฟูกไม่ยวบ ผ้าปูรัดมุมตึงเด้ง ซี่เปลไม่ห่างกันเกินไปจนเบบี๋รอดศรีษะออกมาได้ ถ้านึกภาพไม่ออก นึกภาพมูจิเข้าไว้ ถ้ายังไม่ออกอยู่ ดูความโล่งจากภาพนี้ได้เลยค่ะ


ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook: Eunice Kennedy Shriver National Institute of Child Health and Human Development



#3 นมแม่แน่จริง ๆ

คงไม่ต้องบอกแล้วว่านมแม่มีประโยชน์มหาศาลแค่ไหน แถมยังปกป้องลูกเราจาก SIDS ได้ด้วยนะ มีการศึกษาพบว่าเบบี๋ที่ทานนมแม่ มีโอกาสเสี่ยงกับ SIDS น้อยกว่าเบบี๋ที่ไม่เคยได้ทานนมแม่เลยค่ะ แต่ถ้าคุณแม่ให้นมที่เอาน้องมาเข้าเต้าแล้วหลับไปด้วยกันเลย ระมัดระวังการทับเบบี๋จนขาดอากาศหายใจด้วยนะคะ ทางที่ดีเมื่อเข้าเต้าเสร็จแล้ว พาลูกน้อยกลับไปนอนที่เปลเขาเอง หรือนอนชิด ติดกับเตียงคุณแม่ แต่แยกที่นอนกัน ดีที่สุดเลยค่ะ


#4 นอนห้องเดียวกับลูก


การนอนห้องเดียวกันกับเบบี๋ในช่วง 1 ปีแรก หรืออย่างน้อย 6 เดือนแรก ช่วยลดความเสี่ยงจาก SIDS ได้ค่ะ แต่ควรแยกที่นอนเพื่อความปลอดภัยอย่างที่บอกไปในข้อที่แล้วนะคะ และไม่ควรให้เบบี๋หลับบนโซฟา หรือบนเตียงผู้ใหญ่โดยไม่มีคนดูแลเป็นอันขาดเลยค่ะ


#5 SIDS ป้องกันได้ตั้งแต่ตอนท้อง


ในช่วงท้องหากคุณแม่ไม่ได้ดื่มเหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้สูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้คนสูบบุหรี่ ไปพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพครรภ์ตามนัดเป็นประจำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจาก SIDS ไปได้มากเลยค่ะ


#6 จุกหลอกช่วยลดความเสี่ยงจาก SIDS ได้

มีการศึกษาวิจัยออกมาว่าจุกหลอก สามารถลดความเสี่ยงจาก SIDS ได้ค่ะ โดยให้เบบี๋ดูดจุกหลอกเวลานอนทั้งตอนกลางวันและกลางคืนเพื่อลดความเสี่ยง แต่ข้อควรระวังก็คือจุกหลอกไม่ควรห้อยกับสายคล้องใด ๆ และควรให้เบบี๋ใช้จุกหลอกเมื่อเข้าเต้าได้เก่งแล้วค่ะ ถ้าคุณแม่กังวลว่าน้องจะติดจุกหลอกเมื่อโตขึ้น สามารถเลิกใช้ได้เมื่อน้องอายุได้ 6 เดือนนะคะ


#7 อุณหภูมิเหมาะสม ไม่ร้อน ไม่หนาวเกินไป

ใส่ชุดนอนที่เหมาะกับอากาศให้ลูก หากนอนห้องแอร์ แนะนำให้ใส่ถุงนอน หรือ baby sack แทนผ้าห่มค่ะ อากาศบ้านเราร้อนมากอยู่แล้ว ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าหนา ๆ ให้เบบี๋เวลานอนนะคะ หลายท่านกังวลว่าเบบี๋จะหนาว แต่อากาศที่ร้อนเกินไป เพิ่มความเสี่ยงต่อ SIDS ได้มากเลยค่ะ


#8 ฉีดวัคซีนและพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง

วัคซีนไม่ใช่แค่ช่วยปกป้องลูกจากโรคต่าง ๆ แต่ยังมีการวิจัยและศึกษาออกมาว่า วัคซีนสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากโรค SIDS ได้อีกด้วย


#9 งดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อ้างว่าลดความเสี่ยงจาก SIDS ได้

คุณแม่สายช็อปอาจจะไม่ถูกใจสิ่งนี้ แต่อุปกรณ์น่าใช้ต่าง ๆ ที่อ้างว่าลดความเสี่ยงจาก SIDS ได้ กลับไม่จำเป็นและเผลอ ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงเอาด้วย เช่น หมอนกันกรดไหลย้อน หรือเครื่องตรวจวัดหัวใจขณะหลับ อย่างที่บอกไว้ว่า Minimal is the best สำหรับเรื่องนี้ค่ะ


#10 ฝึกลูก Tummy Time ในเวลากลางวัน

ช่วยให้เบบี๋ออกกำลัง พัฒนากล้ามเนื้อด้วยการวางคว่ำในช่วงกลางวันเพื่อให้เขาชันคอขึ้นมา (ต้อมีผู้ใหญ่คอยดูตลอดเพื่อความปลอดภัยนะคะ) นอกจากเป็นการเสริมพัฒนาการแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจาก SIDS ได้ด้วยค่ะ


10 ข้อที่กล่าวมา สามารถช่วยลดความเสี่ยงจาก SIDS ได้ และช่วยให้เบบี๋นอนหลับได้อย่างปลอดภัยหายห่วง คุณแม่ท่านไหนมีข้อสงสัยในเรื่อง SIDS มากกว่านี้ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นนะคะ ทีนี้เมื่อสภาพแวดล้อมการนอนของลูกปลอดภัยดีแล้ว เรามาเตรียมสอนลูกให้นอนดีแบบดี๊ดีกันต่อดีกว่าค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก www.nichd.nih.gov







9 views0 comments
bottom of page