top of page

วิธีสอน Self Settling ในเด็กแรกเกิด

Updated: Nov 28, 2022


เด็กน้อยแรกเกิดต้องการการดูแล โอบอุ้มตลอดเวลา แต่รู้ไหมคะว่าหากเราเริ่มสั่งสมความสามารถในการนอนด้วยตัวเอง (Self Settling) ให้เขาตั้งแต่ตอนนี้ เขาจะสามารถนอนหลับได้นาน นอนหลับได้ง่าย และนอนได้ด้วยตัวเองเมื่อถึงเวลาค่ะ




ถ้าจะบอกแม่ๆว่าลูกน้อยของเราสามารถกล่อมตัวเองหลับได้เลย โดยไม่ต้องร้องเรียกให้แม่มาหาตอนกลางดึก คุณแม่จะเชื่อไหมคะ คุณแม่ลองหลับตานึกภาพลูกน้อยนอนหลับปุ๋ยในชุดนอนคลุมเท้าเรียบร้อย ในเปลเรียบง่ายและปลอดภัย ที่ไม่มีตุ๊กตา หมอน หรือผ้าห่ม ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อลูก เมื่อเบบี๋น้อยของคุณแม่ลืมตาตื่นขึ้นมาตอนตีสองครึ่ง ก็นอนนิ่งๆ กระพริบตาปริบๆสองสามที ก่อนจะกลับไปหลับต่อเงียบๆ โดยไม่ได้ส่งเสียงเรียกคุณแม่เลยซักแอะเดียว มันช่างเป็นภาพฝันที่สวยงามเกินจริงที่มนุษย์แม่ไม่กล้าฝันถึงเลยเนอะ แต่มันเกิดขึ้นจริงได้ค่ะแม่ และเชื่อเถอะว่าลูกน้อยของคุณแม่ก็ทำแบบนั้นได้ค่ะ


เราทุกคนล้วนตื่นกลางดึกกันทั้งนั้น


ทราบไหมคะว่ามนุษย์เราทุกคนไม่เคยได้นอนหลับสนิทยาวตลอดคืนเลย ไม่ใช่แค่แม่ลูกอ่อนเท่านั้นนะคะ แม้คนที่ไม่มีลูก หรือเรา ๆ ก่อนจะมีลูก ก็ตื่นกลางดึกเหมือนกัน ก่อนอื่นขออธิบายเรื่องการนอนของมนุษย์ทุกคนให้แม่ๆได้อ่านกันซักหน่อย เรามีวงจรการหลับ หรือที่เรียกว่า Sleep Cycle ที่มีทั้งหลับลึก (NREM) หลับฝัน (REM) รู้สึกตัวตื่นกลางดึก (Wake) นั่นคือกลไกตามธรรมชาติที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มนุษย์เราเกิดอันตรายจากศัตรูที่อาจจะโผล่มาขณะที่เรากำลังนอนหลับค่ะ ลองนึกภาพพันปีก่อน ที่มนุษย์ยังนอนอยู่ในถ้ำ ถ้าหลับสนิทแบบไม่รู้สึกตัวเลย ก็อาจจะเป็นอาหารให้สัตว์กินเนื้อคาบไปรับประทานได้ง่ายๆ นั่นก็คือเหตุผลที่ทำไมบางคืนเราตื่นมาเมื่อได้ยินเสียงกุกกักในครัว หรือได้กลิ่นควันจากที่ไหนซักที่ เพราะธรรมชาติสร้างกลไกการหลับตื้นและรู้สึกตัวกลางดึกมาให้เราระแวดระวังภัยนั่นเองค่ะ


แต่ที่เราไม่รู้สึกว่าตัวเองตื่นกลางดึก หรือไม่รู้สึกอ่อนเพลียในแต่ละคืน ก็เพราะเรามีความสามารถในการกล่อมตัวเองกลับไปหลับต่อได้โดยเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ แต่เด็กน้อยเขายังทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถสอนให้เขาเรียนรู้ และกล่อมตัวเองหลับเหมือนผู้ใหญ่ได้นะคะ เราเรียกสิ่งนี้ว่า Self-Settling หรือ Self-Soothing ค่ะ


Self-Settling ในเด็กแรกเกิด



เป็นเรื่องถกเถียงกันในแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนของเด็กทารกมาช้านานแล้วค่ะ ว่าจริงๆแล้วเด็กทารกสามาถ Self-Settling ได้หรือไม่ บางคนก็ว่าเด็กทารกแรกเกิดยังไม่มีความสามารถที่จะกล่อมตัวเองนอนได้ จนอายุ 3 เดือน หรือบางคนก็แย้งว่าทารกแรกเกิดสามารถกล่อมตัวเองนอนได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแล้ว จริงๆไม่ว่าจะเป็นทางไหน เราในฐานะพ่อแม่ก็สามารถสอน ฝึก ปลูกฝังให้ลูกน้อยของเรารู้จักการนอนเล่นเงียบๆ คนเดียวในเปล หรือที่ปลอดภัย โดยมีคุณแม่หรือคุณพ่อเฝ้าดูอยู่เงียบๆ เพื่อให้เขารู้จักการนอนเล่นคนเดียว ทำความรู้จักพื้นที่รอบข้าง และเรียนรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ (เปล หรือที่นอนของเขา) เป็นพื้นที่ปลอดภัย จนเกิดความคุ้นเคย และสามารถนอนหลับเองได้ง่ายๆเมื่อถึงเวลาค่ะ


วิธีการสร้าง Self-Settling เบื้องต้นให้เบบี๋แรกเกิดก็ไม่ยุ่งยากค่ะ แค่คุณแม่ลองวางลูกน้อยเอาไว้บนเปล หรือฟูก หรือในคอก ให้เขาได้นอนเล่นคนเดียวในช่วงระหว่างวัน โดยไม่ต้องอุ้มเอาไว้ตลอดแต่ต้องอยู่ในสายตาผู้ใหญ่ โดยกะเวลาง่าย ๆ ตามช่วงวัยของลูก เช่นแรกเกิด - 1 เดือน ให้เขานอนเล่นคนเดียวซัก 1 นาที 2 เดือนก็ 2 นาที เป็นต้น อาจจะมีของเล่นเล็ก ๆ เช่นหนังสือผ้าสีสวย ๆ หรือโมบายล์เพลง ให้เขาได้มองเพลิน ๆ เพื่อให้เขาเรียนรู้ที่จะใช้เวลาอยู่กับตัวเองซักพักหนึ่งค่ะ ทำแบบนี้ซักวันละ 2 ครั้ง ก็เป็นการฝึก Self-Settling ให้ลูกได้แล้วค่ะ


มีคำแนะนำเพิ่มเติมมาให้คุณแม่ดังนี้ค่ะ


Tip #1 - อย่าคาดหวังเกินจริง


เด็กวัยแรกเกิดบางคนอาจจะยังไม่สามารถนอนหลับด้วยตัวเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติมากๆค่ะ เพราะวัยนี้ลูกน้อยยังไม่คุ้นชินกับโลกภายนอก ในท้องคุณแม่ทั้งอบอุ่น สบาย เคลื่อนไหวไปมา และให้ความรู้สึกถูกโอบกอดตลอดเวลา อยู่ ๆ ต้องมานอนนิ่ง ๆ ในที่นอนกว้าง ๆ เย็นเฉียบ และเงียบสนิท ลูกน้อยย่อมเกิดความกังวลและไม่คุ้นเคยเป็นธรรมดา สิ่งที่ควรทำคือไม่ควรกดดันทั้งตัวเองและลูกนะคะ ควรตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า เราจะค่อย ๆ สอนและฝึกลูกให้รู้จัก และคุ้นเคยกับการกล่อมตัวเองนอนไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องทำได้ในวันแรก ๆ หรือแม้กระทั้งสัปดาห์แรก ๆ คิดเอาไว้ว่าการสอนให้ลูกรู้จัก Self-Settling ในวัยแรกเกิด เหมือนการหยอดกระปุกค่ะ เก็บออมไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงวันหนึ่ง ลูกเราก็จะมี Self-Settling เต็มกระเป๋าเลย


Tip #2 - เลือกเวลาที่เหมาะสม


เลือกเวลาที่ลูกน้อยอารมณ์ดี ๆ เช่นเพิ่งทานนมอิ่ม ๆ สบายท้อง เพิ่งอาบน้ำเสร็จ หรือเพิ่งตื่นนอนใหม่ ๆ วางเขาให้นอนเล่นบนที่นอน โดยคุณแม่อาจจะเปิดเพลงเบา ๆ หรือวางของเล่นที่น้องชอบมอง ไว้ใกล้ ๆ ซักชิ้นหนึ่ง แล้วลองให้เขาได้ใช้เวลากับตัวเอง โดยมีคุณแม่เฝ้าดูอยู่เงียบ ๆ ค่ะ


"I suggest you also help your baby develop the skills they need to fall asleep on their own, because, frankly, they can!" – Dr. Harvey Karp, Pediatrician and authors of "Happiest Baby on the Block"

Tip # 3 - สร้าง Secure Bonding ให้มากที่สุด


หากน้องร้องไห้ อุ้มขึ้นมาปลอบโยนได้เลยนะคะ หากสงบแล้ว คุณแม่อาจจะลองวางน้องลงไปใหม่ แต่ถ้าน้องยังคงร้องไห้ หรือแสดงท่าทางต่อต้าน ก็หยุด แล้วค่อยเริ่มหัดใหม่วันหลังค่ะ ลูกวัยแรกเกิดของเรายังเล็ก และต้องการความรู้สึกปลอดภัยจากแม่มากเป็นอันดับหนึ่งเลยค่ะ ดังนั้นแนะนำให้ตอบสนองทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ เพื่อสร้าง Secure Bonding ที่เหนียวแน่นมั่นคงระหว่างแม่และลูกค่ะ





ในวัยนี้ Bonding ระหว่างพ่อ แม่และลูกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด


สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการสอนลูกน้อยวัยแรกเกิดให้รู้จัก Self-Settling ก็คือคุณแม่ต้องไม่กดดันทั้งตัวเองและลูกน้อยนะคะ และตอบสนองทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ จำไว้ว่าในช่วงวัยนี้เราแค่สร้างความคุ้นชินให้เขารู้จัก และคุ้นเคยกับการนอนเล่นคนเดียวเงียบ ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อให้เขาคุ้นกับการกล่อมตัวเองนอนเมื่อโตขึ้น ไม่ต้องรีบร้อนและกดดันใด ๆ นะคะคุณแม่

ถ้าคุณแม่คนไหนอยากสอน Self-Settling ให้ลูก แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มยังไง อ่านบทความแล้วก็ยังไม่ชัวร์ หรือมีลูกช่วงวัยอื่นที่อยากฝึกการนอนด้วยตัวเอง อยากปรึกษาที่ปรึกษาด้านการนอนเด็กทารกและเด็กก่อนวัยเรียนโดยเฉพาะ คลิกมาพูดคุยเบื้องต้นแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายได้เลยนะคะ หรือถ้าอยากจองแพคเกจปรึกษาการนอนลูกที่ดูแลกันแบบ VIP เฉพาะบุคคล ลองคลิกเข้าไปดูรายละเอียดแพคเกจได้เลยค่ะ

สำหรับวันนี้นอนหลับฝันดีกันทั้งครอบครัวนะคะ

38 views
bottom of page