top of page

Newborn Blog Series

แรกเกิด – 3 เดือน ช่วงเวลาแห่งการปรับตัวของแม่และลูก


บางคนก็ว่าช่วง 3 เดือนแรกของทารกนั้นยากที่สุด แต่บางคนก็ว่าช่วงนี้แหละง่ายสุด ๆ แล้ว แม่มือใหม่อย่างเราจะเชื่อทางไหนดี แต่ถ้าวัดจากประสบการณ์ตรง คนที่พูดว่าช่วงแรกเกิดง่ายที่สุด มักจะผ่านไปสู่ช่วงอื่นแล้ว ดังนั้นสำหรับแม่มือใหม่ที่เพิ่งรับหน้าที่แม่ได้ไม่ถึง 3 เดือน ช่วงปรับตัวนี้แหละค่ะ ที่เป็นช่วงวัดใจให้คุณผ่านเข้าสู่โลกแห่งความเป็นแม่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ


ช่วงแรกเกิด – 3 เดือน เป็นช่วงที่เบบี๋เพิ่งย้ายออกมาสู่โลกกว้างใบใหม่ที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน มันเวิ้งว้างและน่าหวั่นใจมากนะคะ ดังนั้นเบบี๋ก็เลยงอแงบ่อยหน่อย เพราะลูกต้องพยายามปรับตัว ซึ่งคุณแม่เองก็ต้องทำความเข้าใจและทำให้ลูกน้อยรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และตัวคุณแม่เอง ก็อยู่ในช่วงปรับตัวเข้าสู่บทบาทหน้าที่ใหม่เช่นกัน ดังนั้นอะไร ๆ ก็เลยดูยุ่งยากไปซะหมด ยังไม่นับเรื่องนอนของเบบี๋วัยนี้ ที่ชวนแม่เพลียจิตมากที่สุด นั่นก็คือ ไม่มีแบบแผนอะไรเลย นึกจะนอนก็นอนยาวจนแม่ตกใจ (ต้องคอยเช็คว่ายังหายใจอยู่หรือเปล่า) นึกจะไม่นอนก็ยิงยาวตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงตีสี่ ให้แม่ตาโหลชนิดที่หมีแพนด้ายังเห็นใจจนอยากจะซื้อคอนซีลเลอร์ให้เลยทีเดียว




นี่ยังไม่นับการร้องไห้แบบไร้ซึ่งเหตุผลใด ๆ ที่คุณแม่พยายามปลอบเท่าไหร่ก็ไม่เงียบ ทั้งโคลิก ทั้งช่วงเวลาโพล้เพล้ ผีตากผ้าอ้อม อะไรต่อมิอะไร ดูจะมีสารพัดเรื่องที่ทำให้ลูกเราร้องไห้ได้ทุกเมื่อ คุณแม่หลายคนก็งัดเอาทั้งหลักวิทยาศาสตร์(โทรถามคุณหมอ) ไสยศาสตร์ (ไหว้เจ้าที่) สรีระศาสตร์ (นวดท้องวนไป) มาใช้กันจนแม่ปวดประสาท ลูกก็ยังคงแผดเสียงร้องอย่างทรหดอดทนและสม่ำเสมออยู่ดี สารพัดสิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้แม่มือใหม่ร้องไห้ตามได้ง่าย ๆ เพราะไหนจะอดนอน ไหนจะเหนื่อยเลี้ยงลูก แล้วยังต้องฟังเสียงกรีดร้องแบบมาราธอนของลูกอีก…ใครเป็นแบบนี้อยู่ พักก่อนนะคะ ลองหาคนช่วยดูลูก หรือวางลูกในที่ปลอดภัย (ในเปล หรือในคอก) สูดหายใจลึก ๆ ดื่มน้ำเย็น ๆ ซักแก้ว แล้วหาเวลาอ่านบล็อกซีรีส์ชุดนี้ดู ทางแก้อยู่ในนี้ค่ะ


เบบี๋แรกเกิด สามารถนอนยาวได้แค่ไหน


ในฐานะ Baby Sleep Consultant นุชจะได้รับคำถามนี้จากคุณแม่มือใหม่บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ เลยค่ะ “ลูกเพิ่งได้ไม่ถึงเดือน ฝึกนอนยาวได้หรือยังคะ” คำตอบก็คือ คำว่ายาวของเราไม่เท่ากันค่ะคุณแม่ ถ้าในใจคุณแม่ตั้งเป้าคำว่านอนยาวเอาไว้ว่า นอน 6-8 ชั่วโมง แบบหลับเที่ยงคืน ตื่น 8 โมงอะไรทำนองนั้น ยังไม่ได้ค่ะ เพราะเราต้องเข้าใจธรรมชาติการนอนของลูกด้วย เบบี๋วัยแรกเกิดจนถึง 3 เดือนยังต้องทานนมทุก 3-4 ชั่วโมงอยู่ค่ะ เพราะกระเพาะน้องจิ๋วมาก เติมนมไปแป๊บ ๆ ก็ย่อยหมดแล้ว ลูกก็เลยตื่นมาเช็คชื่อให้แม่เติมนมให้อยู่บ่อย ๆ และอีกข้อที่สำคัญมากก็คือ ในช่วงแรกเริ่มแบบนี้ นมแม่กำลังเดินเครื่องผลิตเต็มสูบค่ะ หากลูกนอนยาวจนข้ามมื้อนมในตอนเที่ยงคืน หรือตีสาม (เวลาไพรม์ไทม์ในการผลิตน้ำนม) น้ำนมแม่ก็จะผลิตได้น้อยลง และไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค่ะ ดังนั้นในช่วงแรกจนถึง 3 เดือน ทารกยังนอนยาวไม่ได้นะคะ

แต่…….ช้าก่อนค่ะแม่ อย่าเพิ่งตีอกชกหัวด้วยความกลุ้มใจ ถ้าคำว่านอนยาวของคุณแม่ หมายถึงซัก 3-4 ชั่วโมงในตอนกลางคืน อันนี้สามารถทำได้นะคะ อ่ะ อย่าเพิ่งเบ้หน้าค่ะ อย่าดูถูก 4 ชั่วโมงน้า ลองคิดดูว่านอนตอนเที่ยงคืน ตื่นตีสี่ ก็เกือบเช้าแล้วเนอะแม่ ไม่เลวเลยนะคะ เชื่อเถอะค่ะว่าแค่คุณแม่ได้นอนเต็มอิ่มซัก 4 ชั่วโมงรวดเดียวเลย โลกเปลี่ยนไปเลยจริง ๆ นะคะ และนั่นคือสิ่งที่นุชกำลังจะแชร์ในซีรีส์บทความนี้ค่ะ เราสามารถฝึกลูกเบบี๋วัยแรกเกิดถึง 3 เดือนของเรา ให้นอนดี นอนเก่ง นอนง่าย และนอนยาว (4 หรือบางทีก็ 5ชั่วโมง!) ได้ เพื่อเขาจะได้มี Sleep Foundation หรือพื้นฐานการนอนที่ดี เตรียมพร้อมที่จะนอนยาวตลอดคืนเมื่อถึงวัย (5 เดือนสามารถนอนได้ 10 ชั่วโมงตอนกลางคืน! โอ้มายก๊อด รายการฝันที่เป็นจริงกลับมาฉายใหม่หรือนี่)

เราคงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า เบบี๋วัยแรกเกิดถึง 3 เดือน สามารถฝึกนอน (Sleep Training) ได้อย่างจริงจัง เพราะเขายังเล็กเกินกว่าที่เราจะเอาตารางเวลาต่าง ๆ ไปกะเกณฑ์เขาได้ค่ะ และช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่คุณแม่ควรจะสร้าง Bonding กับลูกให้มากที่สุด อุ้มให้มากที่สุด ให้นมให้มากที่สุด พูดคุย บอกรัก สัมผัสตัวให้มากที่สุด เพื่อสร้างความไว้วางใจและสายสัมพันธ์สุดพิเศษระหว่างแม่ลูก แต่สิ่งที่เราทำได้ในช่วงวัยนี้ และควรทำมาก ๆ ก็คือการสร้างพื้นฐานการนอนที่ดีให้กับลูก โดยเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก และฝึกให้ลูกมี Self-Settle หรือการรู้จักนอนได้ด้วยตัวเองตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อให้เขานอนยาวได้ตลอดคืนอย่างรวดเร็วเมื่อถึงวัยค่ะ (ประมาณ 4-5 เดือน)


Blog Series นี้สำหรับคุณแม่ ที่เพิ่งรับหน้าที่แม่ได้ไม่ถึง 3 เดือน

เอาจริง ๆ แค่เรื่องนอนกับเรื่องปลอบให้ลูกสงบ แม่ก็เพลียจนไม่มีแรงทำอะไรแล้วใช่ไหมคะ นุชเข้าใจดีค่ะ เพราะตัวนุชเองก็เคยผ่านช่วงหัวหมุนที่ทำทุกอย่างตั้งแต่ไปหาหมอตอนห้าทุ่ม ไหว้เจ้าที่หน้าหมู่บ้าน นวดน้ำมันมะพร้าวให้ลูกจนตัวมันเลื่อม ไปถึงขับรถพาลูกไปไหว้แก้บนที่นครปฐมมมาแล้ว ลูกก็ยังแผดเสียงร้องลั่น ๆ ตอนสามทุ่มถึงห้าทุ่มอย่างสม่ำเสมอ และตื่นนอนทุกสองชั่วโมงอยู่ดี แต่หลังจากที่นุชลองเอาทริคต่าง ๆ ที่จะแชร์กับคุณแม่ใน New Born Blog Series นี้มาใช้กับลูกคนที่สอง โอ้โห ! ต่างกันแบบคนละเรื่องเลยค่ะ ลูกคนเล็กของนุชสามารถนอนนิ่ง ๆ เล่นเพลิน ๆ คนเดียวได้ สามารถผล็อยหลับเองได้ โดยไม่ต้องอุ้มกล่อม และสามารถพานอนได้ง่าย ๆ โดยไม่มีการร้องไห้แบบ Non Stop เลยแม้แต่คืนเดียว

ในบล็อกซีรีส์นี้ นุชจะขอหยิบทริคต่าง ๆ ที่ว่า มาแชร์กับคุณแม่ โดยแต่ละบทความจะเจาะไปที่วัยแรกเกิดถึง 3 เดือน เพื่อที่เราจะได้เปลี่ยนเบบี๋ขี้หงุดหงิดของเรา ให้เป็นเบบี๋อารมณ์ดี นอนง่าย ยิ้มเก่ง และคุณแม่จะได้ไม่ต้องเครียดและอดหลับอดนอนอีกต่อไปค่ะ

เรามาเริ่มที่ Episode 1 ของการฝึกเบบี๋แรกเกิดถึง 3 เดือนให้นอนดีกันเลยดีไหมคะ

2 views
bottom of page