top of page

Newborn Blog Series Episode 3 สอนทารกแรกเกิดให้นอนหลับได้ด้วยตัวเองด้วยวิธี Wake to Sleep

Updated: Nov 29, 2022

ถ้าจะบอกแม่ๆว่าลูกน้อยของเราสามารถกล่อมตัวเองหลับได้เลย โดยไม่ต้องร้องเรียกให้แม่มาหากลางดึก คุณแม่จะเชื่อไหมคะ คุณแม่ลองหลับตานึกภาพลูกน้อยนอนหลับปุ๋ยในชุดนอนคลุมเท้าเรียบร้อย ในเปลเรียบง่ายและปลอดภัย ที่ไม่มีตุ๊กตา หมอน หรือผ้าห่ม ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อลูก เมื่อเบบี๋น้อยของคุณแม่ลืมตาตื่นขึ้นมาตอนตีสองครึ่ง ก็นอนนิ่งๆ กระพริบตาปริบๆสองสามที ก่อนจะกลับไปหลับต่อเงียบๆ โดยไม่ได้ส่งเสียงเรียกคุณแม่เลยซักแอะเดียว มันช่างเป็นภาพฝันที่สวยงามเกินจริงที่มนุษย์แม่ไม่กล้าฝันถึงเลยเนอะ


แต่มันเกิดขึ้นจริงได้ค่ะแม่ และเชื่อเถอะว่าลูกน้อยของคุณแม่ก็ทำแบบนั้นได้ เราเรียกสิ่งนี้ว่า Self-Settling หรือ Self-Soothing ค่ะ



เป็นเรื่องถกเถียงกันในแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนของเด็กทารกมาช้านานแล้วค่ะ ว่าจริงๆแล้วเด็กทารกสามาถ Self-Settling ได้หรือไม่ บางคนก็ว่าเด็กทารกแรกเกิดยังไม่มีความสามารถที่จะกล่อมตัวเองนอนได้ จนอายุ 3 เดือน หรือบางคนก็แย้งว่าทารกแรกเกิดสามารถกล่อมตัวเองนอนได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแล้ว จริงๆไม่ว่าจะเป็นทางไหน เราในฐานะพ่อแม่ก็สามารถสอน ฝึก ปลูกฝังให้ลูกน้อยของเรารู้จักการนอนเล่นเงียบๆ คนเดียวในเปล หรือที่ปลอดภัย โดยมีคุณแม่หรือคุณพ่อเฝ้าดูอยู่เงียบๆ เพื่อให้เขารู้จักการนอนเล่นคนเดียว ทำความรู้จักพื้นที่รอบข้าง และเรียนรู้ว่าพื้นที่ตรงนี้ (เปล หรือที่นอนของเขา) เป็นพื้นที่ปลอดภัย จนเกิดความคุ้นเคย และสามารถนอนหลับเองได้ง่ายๆเมื่อถึงเวลาค่ะ

ในบทความนี้ เราจะเจาะลึกกันที่วิธีฝึก Self-Settling ในเด็กแรกเกิด – 3 เดือนกันนะคะ ส่วนคุณแม่ที่มีลูกน้อยช่วงวัยอื่น ที่อยากจะฝึกให้ลูกนอนหลับได้ด้วยตัวเอง ลองติดตามในบทความต่อๆไปได้เลยค่ะ


สร้าง Self-Settling ให้ลูกวัยแรกเกิด – 3 เดือนด้วยวิธี Wake to Sleep


นึกภาพตามนะคะ คุณแม่อุ้มเบบี๋ที่เคลิ้มหลับอยู่ในแขน โยกไปมาเล็กน้อยจนลูกหลับสนิท คุณแม่ผ่อนลมหายใจช้า ๆ อย่างโล่งอก ในไม่ช้าเมื่อลูกหลับคุณแม่จะได้ไปอาบน้ำ ไปทานข้าว ไปเล่นโทรศัพท์ หรือทำอะไรต่อมิอะไรที่ต้องการได้แล้ว คุณแม่ย่องไปที่เปล ค่อย ๆ โน้มตัวลงวางลูกน้อยลงช้า ๆ หลังของเบบี๋ใกล้จะสัมผัสเบาะที่นอนแล้ว อีกนิดเดียว นิดเดียวเท่านั้น….ตรงนี้แหละค่ะ นุชอยากให้คุณแม่ปลุกน้องให้ตื่นขึ้นมา


อ่านถึงตรงนี้คุณแม่อาจจะอยากกรี๊ดใส่หน้าจอ บ้ารึเปล่า ใครเขาจะปลุกเบบี๋ที่หลับแล้วกัน กว่าจะกล่อมนอนได้แขนชาไปหมดแล้ว แต่อย่าเพิ่งหยุมหัวกันเลยนะคะ เชื่อเถอะว่าการปลุกเบบี๋ที่หลับแล้วให้รู้สึกตัวก่อนจะวางน้องลงในเปลเนี่ย จะช่วยให้ลูกน้อยรู้จักการกล่อมตัวเองหลับต่อได้ในระยะยาวจริง ๆ และเมื่อถึงตอนนั้น คุณแม่จะไม่ต้องกลั้นหายใจตอนวางน้องในเปลอีกต่อไป


ถ้าคุณแม่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกยังไม่พร้อมจะปลุกเบบี๋ที่นอนหลับ เพราะทำใจให้กล่อมลูกต่อยาว ๆ อีกไม่ไหว พักก่อนก็ได้นะคะ ทำใจก่อนแล้วค่อยมาอ่านวิธีนี้ใหม่ แต่ถ้าคุณแม่พร้อมจะลุยมาในทางนี้แล้ว กลั้นหายใจอ่านบรรทัดต่อไปได้เลยค่ะ


Wake to Sleep เทคนิคสู่หนทางหลับได้ด้วยตัวเอง


Tip #1 กล่อม อุ้ม กอด หอม ให้นม ได้เต็มที่


คุณแม่กล่อมลูกจนพอใจได้เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นให้เข้าเต้า อุ้มโยก เดินรอบบ้าน ทำวิธีไหนก็ได้ที่ปกติคุณแม่ใช้ในการกล่อมเจ้าตัวเล็กให้นอนหลับ


Tip #2 เมื่อลูกเคลิ้มหลับ เตรียมวางบนที่นอน


หลังจากเบบี๋เคลิ้ม หรือหลับแล้ว คุณแม่อุ้มน้องเตรียมวางลงบนที่นอนได้เลยนะคะ

"YOU CAN LEARN MANY THINGS FROM CHILDREN, HOW MUCH PATIENCE YOU HAVE, FOR INSTANCE" – FRANKLIN P.JONES

Tip #3 ปลุกให้ลูกตื่น!


ก่อนจะวางน้องลง ให้คุณแม่ปลุกน้องให้ตื่น โดยการจั๊กจี๋เท้า เขี่ยแก้ม ขยับแขนขาเขาเบา ๆ เพื่อให้น้องรู้สึกตัวค่ะ


Tip #4 วางน้องลงในเปล และกล่อมต่อ


เมื่อน้องรู้สึกตัว วางน้องลงในเปล แล้วค่อย ๆ ตบก้นเบา ๆ หรือส่งเสียงชู่ว ๆ ให้น้องนอนหลับต่อค่ะ


Tip #5 ถ้าไม่สำเร็จ เริ่มกล่อมใหม่


หากน้องร้องไห้มากขึ้น และไม่มีทีท่าจะหลับต่อ ให้คุณแม่อุ้มน้องขึ้นมากล่อมใหม่ ก่อนจะทำเหมือนเดิมตั้งแต่ข้อที่ 3 ค่ะ

อ่านดูแล้วอาจจะเหนื่อยไปซักหน่อย แต่เชื่อเถอะค่ะว่าในระยะนาว มันจะคุ้มค่ามาก ๆ และคุณแม่จะสามารถพาน้องเข้านอนได้อย่างสบายกาย สบายใจ และไม่ต้องเสียเวลาอุ้มโยก อุ้มกล่อม หรือกลั้นหายใจวางลงบนเปล แล้วย่องปลายเท้าออกจากห้องอีกต่อไปเลยค่ะ


เคล็ดลับสำหรับวิธีนี้คือ คุณแม่ต้องแน่ใจก่อนว่าน้องทานนมอิ่มแล้ว เรอแล้ว เปลี่ยนแพมเพิร์สแล้ว ห่อตัวอย่างถูกต้อง เปิดไวท์นอยซ์คลอเอาไว้ (สองข้อหลังสำหรับน้องที่คุ้นชินกับการห่อตัวและไวท์นอยซ์ ส่วนน้องที่ไม่เคยห่อตัวและใช้ไวท์นอยซ์ แนะนำให้คุณแม่ห่อตัวให้ถูกวิธี และใช้ไวท์นอยซ์ทุกครั้งที่นอนหลับ จะทำให้หลับได้ดีขึ้นมากค่ะ)



คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับวิธี Wake to Sleep


· อย่าคาดหวังเกินจริง : เด็กวัยแรกเกิดบางคนอาจจะยังไม่สามารถนอนหลับด้วยตัวเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติมากๆค่ะ เพราะวัยนี้ลูกน้อยยังไม่คุ้นชินกับโลกภายนอก ในท้องคุณแม่ทั้งอบอุ่น สบาย เคลื่อนไหวไปมา และให้ความรู้สึกถูกโอบกอดตลอดเวลา อยู่ ๆ ต้องมานอนนิ่ง ๆ ในที่นอนกว้าง ๆ เย็นเฉียบ และเงียบสนิท ลูกน้อยย่อมเกิดความกังวลและไม่คุ้นเคยเป็นธรรมดา สิ่งที่ควรทำคือไม่ควรกดดันทั้งตัวเองและลูกนะคะ ควรตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า เราจะค่อย ๆ สอนและฝึกลูกให้รู้จัก และคุ้นเคยกับการกล่อมตัวเองนอนไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องทำได้ในวันแรก ๆ หรือแม้กระทั้งสัปดาห์แรก ๆ คิดเอาไว้ว่าการสอนให้ลูกรู้จัก Self-Settling ในวัยแรกเกิด เหมือนการหยอดกระปุกค่ะ เก็บออมไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงวันหนึ่ง ลูกเราก็จะมี Self-Settling เต็มกระเป๋าเลย


· เลือกเวลาที่เหมาะสม : เลือกเวลาที่ลูกน้อยอารมณ์ดี ๆ เช่นเพิ่งทานนมอิ่ม ๆ สบายท้อง เพิ่งอาบน้ำเสร็จ หรือเพิ่งตื่นนอนใหม่ ๆ วางเขาให้นอนเล่นบนที่นอน โดยคุณแม่อาจจะเปิดเพลงเบา ๆ หรือวางของเล่นที่น้องชอบมอง ไว้ใกล้ ๆ ซักชิ้นหนึ่ง แล้วลองให้เขาได้ใช้เวลากับตัวเอง โดยมีคุณแม่เฝ้าดูอยู่เงียบ ๆ ค่ะ


· ให้ความรู้สึกปลอดภัย มั่นคง : หากน้องร้องไห้ อุ้มขึ้นมาปลอบโยนได้เลยนะคะ หากสงบแล้ว คุณแม่อาจจะลองวางน้องลงไปใหม่ แต่ถ้าน้องยังคงร้องไห้ หรือแสดงท่าทางต่อต้าน ก็หยุด แล้วค่อยเริ่มหัดใหม่วันหลังค่ะ ลูกวัยแรกเกิดของเรายังเล็ก และต้องการความรู้สึกปลอดภัยจากแม่มากเป็นอันดับหนึ่งเลยค่ะ ดังนั้นแนะนำให้ตอบสนองทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ เพื่อสร้าง Secure Bonding ที่เหนียวแน่นมั่นคงระหว่างแม่และลูกค่ะ


สิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการสอนลูกน้อยวัยแรกเกิดให้รู้จัก Self-Settling ก็คือคุณแม่ต้องไม่กดดันทั้งตัวเองและลูกน้อยนะคะ และตอบสนองทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ จำไว้ว่าในช่วงวัยนี้เราแค่สร้างความคุ้นชินให้เขารู้จัก และคุ้นเคยกับการนอนเล่นคนเดียวเงียบ ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อให้เขาคุ้นกับการกล่อมตัวเองนอนเมื่อโตขึ้น ไม่ต้องรีบร้อนและกดดันใด ๆ นะคะคุณแม่


65 views0 comments
bottom of page