top of page

Newborn Blog Series Episode 4 สอนทารกแรกเกิดให้รู้จักกลางวัน กลางคืน

หนึ่งในปัญหาโลกแตกของคุณแม่มือใหม่อย่างเรา ๆ ก็คือ ลูกหลับดี๊ดีตอนกลางวัน และตื่นตาโต คึกสุด ๆ ในตอนกลางคืน จนแม่ไม่ไหวจะเพลียแล้ว ไอ้ครั้นจะปรับตัวเป็นมนุษย์ค้างคาวตามลูก คุณแม่บางคนก็ต้องตื่นไปทำงานตอนเช้าอีกต่างหาก ถ้าคุณแม่กำลังเจอปัญหาเหล่านี้อยู่ ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เรามาฝึกให้ลูกน้อยของคุณแม่ รู้จักแยกแยะกลางวันและกลางคืน เพื่อที่จะหลับจะนอนได้เป็นเวลาเมื่อเขาเริ่มโตขึ้นค่ะ




เหตุผลที่ลูกคุณแม่ตื่นตาโตเมื่อตอนกลางคืน และหลับงัวเงียตอนกลางวัน จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรซับซ้อนเลยค่ะ เบบี๋แรกเกิดก็แค่ยังดูเวลาไม่เป็นเท่านั้นเอง เขายังไม่รู้ว่าตอนนี้กี่โมงแล้ว ยังไม่รู้ว่ากลางวันที่มีแสงสว่างคือเวลาที่ต้องตื่น ยังไม่รู้ว่าเวลาฟ้ามืดคือเวลาที่ต้องนอน หรือเรียกอีกอย่างว่า นาฬิกาในร่างกายของเขา (circadian rhythm) ยังไม่พัฒนานั่นเอง เจ้านาฬิกาในร่างกายของเบบี๋นั่นจะเริ่มพัฒนาเมื่อเขามีอายุได้หกสัปดาห์ และจะเริ่มทำงานเป็นปกติคล้ายผู้ใหญ่ (หรือเริ่มรู้กลางวันกลางคืน) ก็เมื่ออายุได้ราว 3-6 เดือนแล้วแต่เด็กแต่ละคนค่ะ ทีนี้เราก็คงอยากให้นาฬิกาในร่างกายของลูกเราทำงานเป็นปกติได้ตั้งแต่ 3 เดือน ถูกไหมคะ ตรงนี้แหละค่ะที่เราจะช่วยฝึกเขาได้ตั้งแต่แรกเกิด เรียกว่าลูกเราจะนอนยาวได้เร็วหรือช้า ก็เริ่มกันตรงนี้แหละ


เรามาดูวิธีการฝึกให้ลูกวัยแรกเกิด รู้จักกลางวันกลางคืนกันดีกว่าค่ะ


Tip #1 สร้าง Bedtime Routine ตั้งแต่แรกเกิด


คุณแม่ลองจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในห้องว่าง ๆ ห้องหนึ่ง ที่ไม่มีนาฬิกา ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีอะไรที่จะบอกเวลาได้เลย เราจะรู้ได้ยังไงว่าถึงเวลากลางคืนแล้ว จริงไหมคะ ก็เหมือนทารกแรกเกิดนั่นแหละค่ะ พวกเขาไม่รู้ว่าตอนนี้ตีสองแล้ว หนูต้องนอนแล้วนะลูก เพราะแม่ไม่ไหวแล้ววว แต่ถ้าเกิดมีกิจกรรมอะไรที่เป็นเหมือนสัญญาณให้เขา เช่น เปิดเครื่องไวท์นอยซ์ อาบน้ำ นวดตัวด้วยเบบี้ออยล์หอม ๆ เสร็จแล้วแม่ก็เล่านิทานให้ฟัง ก่อนจะได้เข้าเต้ากินนมมื้อใหญ่ อิ่ม อุ่น สบาย แบบนี้ทุกคืน ไม่นานทารกก็จะเรียนรู้ได้ว่า เมื่อมีกิจกรรมเหล่านี้ แปลว่าใกล้เวลาเข้านอนของเขาแล้วค่ะ Bedtime Routine ทำหน้าที่เป็นเหมือนสัญญาณบอกเวลาแทนนาฬิกาให้เบบี๋รู้ว่า นี่คือเวลาเข้านอนแล้วนั่นเองค่ะ


Tip #2 ทำกลางวันให้ต่างจากกลางคืน


หลาย ๆ บ้านเวลาลูกนอนกลางวัน มักจะทำบรรยากาศให้มืดสนิท เงียบสงัด เรียกได้ว่าเมื่อลูกหลับแล้ว นอกจากจะต้องเดินโหย่งปลายเท้ากันทั้งบ้านแล้ว ยังแทบจะไม่กล้าหายใจกันด้วยเพราะกลัวว่าเบบี๋จะตื่นซะก่อน นี่แหละค่ะคือจุดที่หลายบ้านพลาด ทำให้ทารกไม่รู้จักกลางวันกลางคืนซักที ก็เพราะมันมืดติดตื๋อไปซะหมดเลยน่ะแม่ ดังนั้นที่ควรทำก็คือตอนกลางวัน แม้ลูกจะนอน ก็ให้คุณแม่ คุณพ่อ และคนอื่น ๆ ในบ้านใช้ชีวิตปกติได้เลยค่ะ สามารถพูดคุยกันได้ เปิดทีวี เปิดเพลงเบา ๆ ได้ตามอัธยาศัย เปิดม่านให้แสงแดดส่องเข้ามาได้เลย เพราะทารกแรกเกิดเขามักจะนอนบ่อยอยู่แล้วในช่วงกลางวัน ไม่ต้องกลัวว่าเราจะไปรบกวนการนอนของลูกนะคะ ส่วนกลางคืนให้ทำตรงกันข้าม คือเริ่มปิดไฟสลัวตั้งแต่พระอาทิตย์เริ่มตกดินได้เลย พูดคุยกันด้วยเสียงเบา ๆ ในช่วง Bedtime Routine ปิดทีวี อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ทั้งหมด เพื่อให้เบบี๋ค่อย ๆ เรียนรู้ว่า นี่คือเวลากลางวัน และนี่คือเวลากลางคืนค่ะ


"Bedtime Routine เป็นเหมือนสัญญาณบอกเวลา แทนนาฬิกา ให้เบบี๋รู้ว่าถึงเวลาเข้านอนแล้ว" – Little Big Dream Baby Sleep Consulting

Tip #3 พาลูกออกไปรับแสงแดด ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น


ข้อนี้ก็สำคัญมากเช่นกันค่ะ เป็นการกระตุ้นให้เมลาโทนินทำงานได้ดีมากขึ้นด้วย เพราะเมลาโทนิน หรือเจ้า Sleepy Hormone ฮอร์โมนที่ช่วยให้ง่วงนอนตามธรรมชาติของคนเราจะทำงานตามเมื่อได้รับการกระตุ้นจากแสงอาทิตย์ เล่าง่าย ๆ ก็คือเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น เมลาโทนินจะลดลง เป็นสัญญาณให้ร่างกายตื่นตัว เตรียมพร้อมในการเริ่มวันใหม่ เมื่อพระอาทิตย์ตก เมลาโทนินก็จะเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณให้ร่างกายผ่อนคลาย เตรียมเข้าสู่การพักผ่อนยามค่ำคืน ดังนั้นการพาลูกน้อยของเราออกไปเดินเล่นรับแสงแดดอ่อน ๆ ทั้งในตอนเช้าและตอนเย็น เป็นการกระตุ้นการทำงานของเมลาโทนิน และปรับนาฬิกาในร่างกายให้ทำงานได้ดีมากขึ้นค่ะ


สอนลูกให้รู้จักกลางวันกลางคืนตั้งแต่แรกเกิด เพื่อให้ลูกนอนง่าย และนอนนานในระยะยาว


ทริคทั้งสามข้อนี้ ทำตามกันได้ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ เรามาช่วยฝึกให้ลูกรู้จักกลางวันกลางคืน และช่วยพัฒนาการทำงานของนาฬิกาในร่างกายของลูกกันดีกว่าค่ะ เพื่อให้ลูกเรากลายเป็นเด็กนอนเก่ง นอนง่าย นอนเป็นเวลา แม่ไม่ต้องเหนื่อยกล่อม ไม่ต้องเหนื่อยสู้รบเมื่อถึงเวลาเข้านอน คุ้มค่ามาก ๆ ในระยะยาวเลยนะคะ แต่ถ้าคุณแม่คนไหนอยากได้คนช่วยฝึกแบบจับมือทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ไว ๆ ติดต่อสอบถามเรื่อง private consult กับ Little Big Dream ได้เลยค่า


6 views0 comments
bottom of page