คาแรคเตอร์ลูกเราเป็นแบบไหน และกล่อมนอนตามคาแรคเตอร์ยังไง ให้ลูกนอนยาว
เชื่อไหมคะ ว่าทารกแรกเกิด เขาเกิดมาพร้อมกับคาแรคเตอร์นะคะ คุณแม่อาจจะงง เจ้าจิ๋วของแม่ที่เพิ่งออกมารู้จักกันได้ไม่ถึงเดือนดี ก็มีคาแรคเตอร์แล้วเหรอ มีค่ะ และคาแรคเตอร์ที่ติดตัวน้องมาตั้งแต่แรกเกิดนี่แหละ เป็นตัวชี้วัดว่าลูกของคุณแม่ จะนอนง่าย นอนยาก นอนนาน หรือนอนแป๊บเดียวก็แบตเต็ม พร้อมตื่นมาร่าเริงต่อไปได้อีกนาน (ฮือ น่าขนลุกมาก)
วันนี้นุชจะมาแจกแจงให้ฟังว่า คาแรคเตอร์ที่ติดตัวเบบี๋แรกเกิดมาตั้งแต่ยังอยู่ในท้องคุณแม่ มีแบบไหนบ้าง แล้วลักษณะการนอนของเด็กแต่ละแบบเป็นอย่างไร ลูกคุณแม่เป็นคาแรคเตอร์แบบไหน และที่สำคัญคือ ในฐานะแม่ เราจะเอาเจ้าตัวน้อยของเราเข้านอนให้ราบรื่น ตรงตามคาแรคเตอร์ของเขาได้ยังไง

1. หนูน้อยมิตรภาพ (The Social Baby)
รับบทนางงามมิตรภาพแล้วหนึ่ง ยิ้มแฉ่งให้ทุกคนได้ในทุกเวลา ไม่กลัวคนแปลกหน้า แถมยังโผเข้าหาอีกต่างหาก เด็กกลุ่มนี้ชอบเข้าสังคมสุด ๆ และชอบให้มีคนอยู่รอบข้างตลอดเวลา ไม่โอเคกับการอยู่คนเดียวเลย แต่ถ้าเมื่อไหร่มีคนมาแวดล้อมล่ะก็ ยิ้มโชว์เหงือกไม่หุบเลยค่ะ ถ้าลูกของคุณแม่มีคาแรคเตอร์แบบนี้ คุณแม่อาจจะต้องสังเกตให้ดีว่าเมื่อไหร่ลูกเรามีสัญญาณว่าเริ่มง่วง ให้ค่อย ๆ พาออกมาจากกลุ่มคนแบบเนียน ๆ อย่าพาออกไปทันทีทันควันนะคะ เพราะถ้าขืนอุ้มออกไปทั้ง ๆ ที่ยังอยากเล่นสนุกอยู่ล่ะก็ ร้องไห้งอแงแน่นอนค่ะ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ เด็กที่มีคาแรคเตอร์แบบนี้มักจะ overstimulate (ตื่นเต้นโดยสิ่งเร้า) ได้ง่าย และเมื่อตื่นเต้นขึ้นมา ก็จะนอนไม่หลับได้ง่าย ๆ เลยค่ะ ดังนั้นถ้าลูกของคุณแม่เป็นหนูน้อยมิตรภาพ เข้าสังคมเก่งแบบนี้ เมื่อเห็นสัญญาณแสดงอาการง่วงนอน แม้น้อยนิด ก็ค่อย ๆ พาเข้าห้องหรือหามุมสงบได้เลยนะคะ
2. หนูน้อยขี้อาย (The Slow to Warm Up Baby)
ขี้อาย ระแวดระวังตัว และต้องการคุณพ่อคุณแม่หรือคนคุ้นเคยอยู่ข้าง ๆ เมื่อพบคนแปลกหน้าหรือสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชิน เด็กน้อยกลุ่มนี้จะจ้องมอง หรือสังเกตเหตุการณ์ (หรือบุคคล) ตรงหน้าอย่างสนใจก่อนที่จะเข้าหา และใช้เวลาพักหนึ่งเลยค่ะกว่าจะยอมเปิดใจ เปิดตัวเข้ากับสถานการณ์หรือบุคคลใหม่ ๆ ถ้าลูกคุณแม่เป็นแนวนี้ Bedtime Routine เป็นตัวช่วยที่สำคัญมาก ๆ ในการพาน้องเข้านอนค่ะ เพราะเด็กกลุ่มนี้ชอบความเสมอต้นเสมอปลาย ชอบเหตุการณ์ที่คาดเดาได้ ชอบ Routine ที่เขารู้ว่าเมื่อเกิดสิ่งนี้ จะมีสิ่งนั้นตามมา ดังนั้นการพาเข้านอนตามเวลาเดิม ๆ ปลุกเวลาเดิม ๆ ทานข้าว ทานนมเวลาเดิม ๆ และทำ Bedtime Routine ในเวลาเดิม จะช่วยให้น้องสบายใจ และเข้านอนอย่างผ่อนคลาย หายห่วงเลยค่ะ
3. หนูน้อยปรับตัวเก่ง (The Settled Baby)
ถ้าลูกคุณแม่อยู่ในกลุ่มนี้ ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ คุณแม่โชคดีสุด ๆ ไปเลยค่ะ เพราะเบบี๋กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่กินง่าย นอนง่าย ปรับตัวง่าย นอนบนรถก็ได้ นอนในรถเข็นก็ได้ นอนแปลกที่ก็ไม่มีปัญหา กินนมหรือไม่กินนมก็ยังหลับได้สบาย ไม่ตื่นเต้นง่าย เข้ากับใครก็ได้ ให้นอนก็นอน ให้กินก็กิน ฝากใครเลี้ยงก็ได้ โอ้โห คุณแม่ทำบุญด้วยอะไรมาคะเนี่ย ถ้าลูกคุณแม่มีคาแรคเตอร์แบบนี้ ไม่มีอะไรต้องแนะนำในเรื่องการนอนเลยค่ะ แค่พาน้องเข้านอนตรงตามเวลาและระวังให้น้องนอนเพียงพอในแต่ละวันก็พอ เพราะบางครั้งการที่น้องนอนง่ายไป คุณแม่พานอนกลางวันบ่อย หรือนอนกลางวันนาน อาจจะส่งผลให้ตื่นบ่อยในตอนกลางคืนได้ค่ะ
4. หนูน้อยเจ้าอารมณ์ (The Sensitive Baby)
ส่วนกลุ่มนี้ก็ตรงข้ามกับกลุ่มที่แล้วเลยค่ะ เด็กน้อยในกลุ่มนี้จะเจ้าอารมณ์ซักหน่อย ร้องไห้ง่าย ร้องไห้บ่อย ร้องไห้แล้วใช้เวลานานกว่าจะสงบได้ ค่อนข้างไวต่อแสง ไวต่อเสียง ไวต่อกลิ่น ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงหรืออะไรที่ไม่เหมือนเดิม และค่อนข้างเรียกร้องจากคุณแม่เยอะหน่อย เช่นต้องอุ้ม ต้องอุ้มเดิน ต้องอุ้มเดินนาน ๆ อะไรประมาณนี้ ซึ่งเจ้าตัวยุ่งกลุ่มนี้จะไม่ชอบการนอนเอามาก ๆ เลยค่ะ เพราะทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว และพลาดความสนุกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เขาหลับไป ดังนั้นแม้จะง่วงแสนง่วง หนูน้อยกลุ่มนี้ก็อาจจะพยายามอย่างมากที่จะไม่หลับ ทำให้คุณแม่เหนื่อยหนักกว่าเดิม
ถ้าลูกคุณแม่มีคาแรกเตอร์แบบนี้ บีบมือให้กำลังใจนะคะ แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ เราสามารถค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ ฝึกให้เขานอนเองและนอนดีขึ้นได้ โดยอาจจะเริ่มจากการทำ Bedtime Routine ที่สนุก ผ่อนคลาย และสม่ำเสมอเพื่อชักชวนให้ลูกอยากเข้าร่วมด้วย และพยายามสังเกตสัญญาณง่วงนอนของลูกให้ดี พาเข้านอนก่อนที่ลูกจะง่วงนอนมากเกินไปเพราะจะทำให้เข้านอนยากขึ้นกว่าเดิมค่ะ
ไม่ว่าเบบี๋จะคาแรคเตอร์เป็นแบบไหน ขอให้คุณแม่มั่นใจว่าลูกน้อยของคุณแม่จะนอนนาน นอนง่าย นอนได้ด้วยตัวเอง และนอนได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยแน่นอนค่ะ หากคุณแม่คอยสอนการนอนที่เหมาะสมให้กับเขา เพื่อให้เขาซึมซับและเข้าใจคอนเซปต์การนอนที่ดีทั้งกลางวันและกลางคืน แต่แน่นอนว่าการฝึกลูกนอนนั้นใช้เวลา ความอดทน และความสม่ำเสมอจากคุณพ่อคุณแม่เป็นหลักนะคะ Little Big Dream ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังคิดจะฝึกลูกนอนเพื่อสุขภาวะนอนที่ดีทั้งครอบครัวค่ะ